“ทักษิณ ชินวัตร” เตรียมยกทัพใหญ่ ปราศรัยโค้งสุดท้ายช่วย “สลักจฤฎดิ์” สู้ศึก อบจ.เชียงราย ด้าน “ยงยุทธ” จ่อใช้เชียงรายเป็นโมเดลหาเสียง นโยบายต้องจับต้องได้

วันที่ 17 มกราคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับความเคลื่อนไหวการหาเสียงเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย (อบจ.) ที่แข่งขันกันระหว่าง นางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช อดีตนายก อบจ.เชียงราย ภรรยานายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร แกนนำพรรคเพื่อไทยกับนางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ อดีตนายก อบจ.เชียงรายนั้น วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น นางสลักจฤฎดิ์ นายยงยุทธ ติยะไพรัช กับทีมงานหาเสียงเลือกตั้งได้ลงพื้นที่หาเสียงอย่างหนัก เปิดเวทีปราศรัยใหญ่ ปราศรัยย่อยทุกอำเภอ บางวันเปิดเวทีปราศรัยถึง 3-4 จุด ในโค้งสุดท้ายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะเดินทางมาที่เชียงรายเพื่อหาเสียงช่วยนางสลักจฤฎดิ์ในวันที่ 29 ม.ค. ขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียง 3 จุดในวันเดียว ที่อ.แม่สรวย อ.พาน และสนามฟุตบอลเชียงรายยูไนเต็ด ที่เป็นสโมสรฟุตบอลประจำจังหวัด หลังก่อนหน้านี้ เคยมาช่วยหาเสียงให้แล้วเมื่อ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันวันนี้ 17 มกราคม นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาช่วยหาเสียงและขึ้นเวทีปราศรัยให้ด้วย

ด้านนายยงยุทธ ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงให้นางสลักจฤฎดิ์ กล่าวว่า ได้ใช้รูปแบบการหาเสียงท้องถิ่น นายก อบจ.ที่แตกต่างจากการหาเสียงนายก อบจ.ในรูปแบบเดิมๆ นำเสนอนโยบายแนวความคิดหลายอย่างที่ประชาชนจับต้องได้ นำเสนอแนวคิดการพัฒนาจังหวัดโดยเชื่อมโยงกับส่วนกลาง-รัฐบาล ในรูปแบบเชียงรายโมเดลช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ จะทำให้เชียงรายเป็นโมเดล ให้เห็นถึงการช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ เช่นเรื่องการเกษตร ซึ่งหน่วยงานรัฐมีกระทรวง-กรมที่เกี่ยวข้องหลายแห่ง มีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ มีข้าราชการหลายหน่วยงานในจังหวัด แต่เกษตรกรก็ยังมีปัญหาเรื่องหนี้สิน ธ.ก.ส. เรื่องราคาพืชผลการเกษตรที่ขายไม่ได้ราคา แต่ก็จะพบว่า ข้าราชการเองบางทีมาอยู่ที่จังหวัด พอทำงานได้สักพักก็ย้ายไปจังหวัดอื่น แต่เกษตรกรยังอยู่ที่จังหวัด ยังประสบปัญหาเหมือนเดิม เจอกับปัญหาเดิม ๆ เช่น ราคาสินค้าเกษตรขายไม่ได้ราคา เพราะผลิต-ปลูกมากเกินไป โดยไม่ได้มีแนวนโยบายใหม่ๆ มาแก้ปัญหา ก็เสนอแนวทางว่า ต่อไป ต้องปรับจากที่เกษตรกรเป็นต้นน้ำ-ผู้ผลิต ทางอบจ.เอง ต้องเข้ามาอยู่กลางน้ำ หาพื้นที่ตลาดกลาง ทำ marketplace ตลาดเปิดในจังหวัดในพื้นที่ต่างๆ เช่นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดอาทิ น้ำตก ภูเขา โดยให้เกษตรกรนำผลิตผลทางการเกษตรมาขายโดยไม่คิดค่าพื้นที่ขาย เป็นลักษณะ Farm from to Table จากเกษตรกรถึงผู้บริโภค-ลูกค้าโดยตรง แล้วนำเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วย เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร วันนี้อบจ.ต้องไม่ได้คิดแต่เรื่องทำถนนอย่างเดียว รวมถึงอบจ.ต้องทำหน้าที่อื่นๆ ด้วย เช่น เรื่องการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง การส่งเสริมเรื่องการศึกษาเช่นการสนับสนุนให้ประชาชน นักศึกษาในจังหวัดได้มีโอกาสเรียนภาษามากขึ้น อบจ.ต้องปรับตัวเองให้เข้ากับโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป