“อ้วน ภูมิธรรม” เผย รัฐบาลไม่หวั่นฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ มองประชุมแก้รัฐธรรมนูญ 13-14 ก.พ.นี้ ต้องเคารพความเห็นต่าง มอง อย่าเพิ่งไปแตะ ม.112 เหตุ คนยังไม่ได้เห็นด้วยกันทั้งหมด
วันที่ 19 มกราคม 2568 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ฝ่ายค้านกำลังที่จะเตรียมญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ดูภาพรวมแล้วเป็นห่วงอะไร อย่างไรบ้าง ว่า จะบอกว่าไม่ห่วงอะไรเดี๋ยวจะรู้สึกว่าเหมือนเรามั่นใจ แต่ที่เคยเรียนว่าไม่ห่วง หัวใจสำคัญอยู่ที่พวกเราตั้งใจและปรารถนาดีในการที่จะทำทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นถึงไม่มีห่วง เพียงแต่ในความปรารถนาดีอาจจะมีความเห็นต่าง อาจจะมีมุมมองที่มันกว้างขึ้น อันนี้ก็เป็นสิ่งที่น่ายินดี ควรรับฟัง เพราะว่ามันช่วยกันมองในหลายๆ มุมที่แตกต่างกัน อาจจะทำให้เราสามารถที่จะพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสมมากขึ้น
ขอเพียงอย่างเดียว อยากให้เปิดใจให้กว้าง มองในทุกๆ มุม แล้วใช้การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นกระบวนการตรวจสอบเพื่อทำให้ทุกอย่างมันถูกต้องเหมาะสมมากขึ้น จะทำให้ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับประเทศชาติ ตนไม่อยากเห็นการเอาประเด็นของบ้านเมืองทั้งหมดมาเล่นเป็นประเด็นทางการเมืองเพื่อเอาชนะกัน ห่วงว่าถ้าเป็นอย่างนั้นหลายๆ ครั้ง อาจจะทำให้นโยบายดีๆ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หรือหลายๆ ครั้งมันทำให้บรรยากาศในการร่วมมือในการแก้ปัญหา กลายเป็นความเอาชนะกัน หรือเอาดีเอาเด่นใส่กัน
…
“ผมเชื่อว่าทุกคนยอมรับว่าบ้านเมืองมันบอบช้ำมานานนับ 10 ปี ตั้งแต่เรามีปัญหาในเรื่องความเป็นประชาธิปไตยที่ถูกแซงก์ชั่น (sanction) ไม่มั่นใจ รวมไปถึงเราเจอกับภัยพิบัติที่มันเกิดขึ้นจากธรรมชาติ เช่น โควิด-19 อุบัติภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากโลกร้อน หรือเกิดขึ้นจากภัยมนุษย์ เช่น คอลเซ็นเตอร์ หรือยาเสพติดอะไรเนี่ย เราก็โดนทุกอย่างรุมเร้าเข้ามา มันก็เป็นปัญหามาก”
วันนี้ต้องไม่คิดว่าใครเป็นฝ่ายค้าน ใครเป็นรัฐบาล ดูให้มันเหมาะสม ถูกต้องว่าสิ่งที่ทำมันถูกแล้วหรือยัง และแนะนำ ไม่ต้องกลัวว่าแนะนำแล้วรัฐบาลเอาไปทำแล้วจะได้เครดิตมากกว่า มันก็ทำจากข้อเสนอต่างๆ ตนคิดว่าเราแชร์กันในการได้ประโยชน์ร่วมกัน อยากให้คิดแบบนี้ เราเองไม่ปฏิเสธเลย ถ้าสมมติว่าเสนอแนะ ให้เหตุผล เรารับฟัง เราไม่มีปัญหา
ทั้งนี้ ไม่อยากเห็นการใช้สำนวนโวหาร การจับประเด็นเพียงบางประเด็น แล้วก็มาทำเหมือนกับเป็นเรื่องที่รุนแรง ร้ายแรงผิดพลาดมหันต์ ไม่อยากให้ทำแบบนั้น ถึงท่านจะพูดอย่างไรก็ตาม เราก็ต้องรับฟัง แล้วก็ต้องรับไปอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าบรรยากาศแบบนั้น มันเลวร้ายที่สุดคือมันไม่สร้างสรรค์ ลดลงมาหน่อยคือมันไม่ให้กำลังใจคนทำงาน แล้วทำให้เกิดความแตกแยก หรือทำให้เกิดการไม่ร่วมมือกัน ซึ่งการแก้ปัญหาวันนี้มันเป็นการแก้ปัญหาที่ต้องการความร่วมมือทุกส่วน แล้วจะทำให้ประเทศเดินหน้าไปเร็วมากขึ้น
รัฐบาลยังปึ้ก ไม่หวั่นถูกอภิปรายโยง “ทักษิณ”
ในประเด็นเสถียรภาพของรัฐบาลกับการถูกอภิปรายเป็นอย่างไรนั้น นายภูมิธรรม เชื่อว่าโดยความตั้งใจและการพูดคุยกันตอนก่อตั้งรัฐบาล ฝ่ายค้านชุดนี้ถึงแม้จะมีอุดมการณ์พรรคที่อาจจะแตกต่างกันบ้าง ในสาระสำคัญบ้าง หรือในรายละเอียดที่แตกต่างกันบ้าง แต่ยังเชื่อว่าการร่วมไม้ร่วมมือของรัฐบาลนี้ยังดี สร้างความมั่นใจให้ได้ว่ารัฐบาลมีเป้าหมายอยากจะทะลุอุปสรรคปัญหาต่างๆ เพื่อให้ประเทศอยู่รอดได้ เพราะฉะนั้นเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องหลัก ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
“เราไม่ได้คิดว่าเราเป็นแพ็กแล้วก็ทำอะไรเราไม่ได้ ไม่ใช่ เราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำดีและถูกต้อง เพราะฉะนั้นเราไม่กังวลใจ ไม่ใช่ว่าเสียงเรามากกว่า ถ้าเสียงมากกว่ามันไม่ได้ทำให้เหมาะสมกับความถูกต้อง มันก็อยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราเชื่อตอนนี้ว่าความร่วมมือกันอยู่ได้ ไม่มีปัญหาอะไร ความขัดแย้งเคยเกิดขึ้น หรือจะเกิดขึ้นบ้างไหม เกิดได้ มันเป็นปกติของความเห็นที่แตกต่างกัน แต่ว่าถ้าเรามีจุดมุ่งหมายชัดเจนรวมกันถึงแม้ความเห็นที่แตกต่างกัน มันก็สามารถแก้ไขปัญหา แล้วก็เคลียร์ได้ ไม่มีปัญหาอะไร”
ในฐานะเป็นผู้จัดการรัฐบาล กังวลว่าจะถูกนำประเด็น นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาอภิปรายหรือไม่ นายภูมิธรรม ระบุว่า ไม่น่ากังวล นายทักษิณ ก็เป็นบุคลากรของพรรค และท่านก็เป็นมีผู้มีประสบการณ์จริง และเป็นผู้ที่ได้พิสูจน์ทราบ พิสูจน์ความสำเร็จในการทำงบประมาณในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ความสำเร็จ เพราะฉะนั้นคุณประโยชน์ในฐานะที่เป็นต้นแบบของพรรค เป็นคนที่มีความตั้งใจ มีความสามารถ มีศักยภาพ มีในการทำงาน นายทักษิณก็ถือว่าเป็นบวก
สำหรับประเด็นที่คนกังวลใจกันเรื่องแทรกแซงหรือไม่ นายภูมิธรรม เผยว่า มันเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย ไม่มีใครหรอกที่จะพยายามมาทำอะไรที่ผิดกฎหมายเพื่อให้เกิดปัญหา เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ เราไม่ห่วง เพียงแต่ว่าบางครั้งบางท่านก็มองในความรู้สึกที่มันเกินเลย ไม่ได้มองจากความเป็นจริง ถ้ามองเกินเลย มันก็เชื่อว่า คิดว่าอย่างนู้นอย่างนี้ แล้วก็มาสรุปว่ามันเป็นความถูกผิด แต่ถ้ามองจากความจริง เขาเป็นพ่อลูกกัน เขาก็ต้องได้คุยกันบ้าง การคุยเรื่องนู้นเรื่องนี้ ฟังกันแล้ว เอามาใช้บางส่วน บางส่วนไม่มาใช้ ก็เป็นเรื่องธรรมชาติ ธรรมดา
ทุกคนก็รู้อยู่ว่าเราพยายามจะไม่ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย ไม่มีอะไรที่เราคิดว่าจะฝืน เราตามกฎหมาย และประสบการณ์ของพรรคเพื่อไทยเราก็โดนมาแล้ว และโดยกระบวนการยุติธรรมที่ไม่สมบูรณ์มันสร้างปัญหาซึ่งเราต้องระวัง ถึงเห็นต่างอย่างไรเราก็ต้องยอมรับสิ่งที่มันเกิดขึ้น ฉะนั้นถือว่าเรายอมรับและพยายามจะทำความเข้าใจ แล้วก็ปรับตัว และชี้แจงแนวทางชัดเจนขึ้น ตรงนี้ไม่น่าห่วง ตนคิดว่า ไม่ว่าใครจะเป็นผู้นำฝ่ายค้าน เป็นฝ่ายรัฐบาล เป็นผู้นำทางสังคม เป็นผู้นำทางราชการ ใครเสนอดีก็สมควรทำได้ไม่ใช่หรือ ไม่ใช่ไปกังวลว่าข้อเสนอดีๆ นี้มาจากคนนั้น ฉันเลยไม่ทำ พรรคไม่ทำ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้นการทำแบบนี้ไม่ต้องไปติดยึดอยู่กับตัวบุคคลหรือพรรคการเมือง ใครทำดีก็ควรทำ เราเป็นรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเป็นคนไม่รักเรา ถ้าเสนอสิ่งที่ดีเราไม่มีเหตุผลที่จะไปปฏิเสธ
แก้รัฐธรรมนูญ ต้องเคารพความเห็นต่าง
ทางด้านคำถามถึงการแก้รัฐธรรมนูญ สุดท้ายการแก้ทั้งฉบับไม่เห็นฝั่งฝัน หรือจะต้องเป็นรายมาตรา หรือจะต้องมีการแก้เฉพาะเรื่องประเด็นเรื่องเฉพาะการเลือกตั้งหรือไม่ในอนาคต นายภูมิธรรม ตอบว่า ในฐานะพรรคแกนนำแล้วก็รัฐบาลนี้ พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด จริงๆ ถามว่าตั้งแต่เริ่มต้น เราเห็นเหมือนกันไหม ก็เห็นเหมือนกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเท่าที่ควร เพราะฉะนั้นถึงจะพยายามแก้ไขปรับปรุงให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นกว่าเดิม อันนี้คือสิ่งที่เราตกลงร่วมกัน แต่ว่ามากขึ้นกว่าเดิมของแต่ละคนอาจจะมากน้อยไม่เท่ากัน อันนี้ไม่เป็นไร อะไรที่เป็นข้อสรุปได้ร่วมกันก็ทำก่อน บางคนบอกว่าต้องแก้หมดเลย แก้ทุกอย่าง สำหรับตนไม่ได้เห็นเหมือนอย่างนี้ แต่เชื่อว่าการมองปัญหาเห็นว่าเป็นควรจะเป็นอย่างไร อันนี้เป็นวิสัยทัศน์ได้ว่า อันนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย ต้องทำให้ประชาธิปไตย ประชาธิปไตยจะทำให้เป็นอย่างไร อันนี้ต้องอยู่กับความเป็นจริง เพราะฉะนั้นความต้องการ กับความเป็นจริงต้องไปด้วยกัน
“อยู่กับความเป็นจริงก็คือ อย่างผมเข้ามาทำงานในรัฐบาล ผมก็อยากจะเห็นการปฏิรูปกองทัพ อยากจะเห็นอะไร ผมก็บอกว่าเราจะเปลี่ยนผ่านไปสู่กองทัพที่ปฏิรูปแล้ว น้ำหนักมันต่างกัน ถ้าบอกว่าเราจะเปลี่ยนเรานู้นเปลี่ยนนี่ บางทีพูดบนพื้นฐานที่คนมาฟังแล้วมันอาจจะตีความไม่เหมือนกัน เพราะว่าวิสัยทัศน์ของแต่ละคนในการมองการเปลี่ยนแปลงมันไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นก็จะเกิดปัญหา แต่ถ้าเราบอกว่าจะเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งนี้ แสดงว่านั่นคือความตั้งใจที่อยากเปลี่ยน ผมบอกทุกคนเลยว่าก็ต้องมีจุดเริ่มต้นที่ทำให้เห็นว่าเรากำลังมีเข็มมุ่งไปสู่การเปลี่ยนแปลง แล้วก็คิดว่าปลายทางมันมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความรับรู้ของคนในสังคม ขึ้นอยู่กับหลายๆ อย่าง แล้วระยะนั้นมันผ่านไป มันใช้เวลาที่อาจจะไม่เท่ากัน บางประเด็นอาจจะจบเลย บางประเด็นอย่างไรก็ยังไม่จบ ที่ยังไม่จบเราก็ไม่จำเป็นต้องเอามาเป็นตัวถ่วงที่ทำให้อย่างอื่นทำไม่ได้ อันไหนยังไม่จบก็ทิ้งไว้ อันไหนจบแล้วก็ทำก่อน”
นายภูมิธรรม กล่าวต่อไปอีกว่า การกระบวนทัศน์ความคิดของคน ไม่ใช่เปลี่ยนแค่คืนเดียวหรือพูดครั้งเดียวแล้วจบ มันยังต้องมีประสบการณ์ มีอะไรหลายอย่างที่ทำให้มุมมองในการมองกว้างขึ้น ตนคิดว่าการเปลี่ยนแปลงของรัฐธรรมนูญก็ต้องใช้เวลา ถามว่าในหน่วยทหาร หน่วยกองทัพ หน่วยข้าราชการประจำ ทุกคนก็มองในจุดน้ำหนักที่แต่ละคนเห็นในมุมของตัวเอง ทุกอย่างต้องพูดคุย ฉะนั้น กระบวนการในการสร้างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา เราก็จะแก้ปัญหา ท้ายที่สุดก็มีเห็นเหมือน เห็นต่าง ค่อยๆ ปรับจูนกัน เช่น ถ้าบอกว่าเรื่องมาตรา 112 เป็นเรื่องอันตรายหรือเป็นเรื่องที่ยังคุยกันไม่จบ บางคนบอกว่าก็ไม่เห็นอันตรายเลย แต่เวลาคุยมันยืนอยู่จุดยืนของตัวเอง มันก็หาทางออกไม่ได้ เพราะฉะนั้นอันนี้ยังหาทางออกไม่ได้ก็เอาไว้ก่อน อย่าเพิ่งไปแตะ แขวนไว้ ไม่อย่างนั้นมันทำไม่ได้หรอก คุยกันให้จบ โดยที่หลายๆ เรื่องนี้มันจบได้ หลายเรื่อง มันต้องใช้เวลา
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำขณะนี้ เราพยายามทำให้ดูว่าอะไรที่เปลี่ยนแปลงได้เร็วมากที่สุด เราตั้งเป้าว่าเราจะทำให้ประสบความสำเร็จ พยายามทำให้มันเสร็จในรัฐบาลนี้ เพราะเราหวังว่ารัฐบาลหน้าที่จะมีการเลือกตั้ง ซึ่งประชาชนจะได้ใช้กฎกติกาที่มันเอื้ออำนวยต่อการเปลี่ยนแปลงให้ได้มาก แต่ว่าในเมื่อมันทำไม่ได้ เพราะว่ายังมีคนเห็นต่าง ตนก็ไม่มองว่าการที่วุฒิสมาชิกมองแบบนี้ แสดงว่าเขามีปัญหา เขาไม่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ แต่คิดว่าก็ต้องเคารพสิทธิเขา แล้วก็ต้องคุย เพราะในสังคมคนก็เห็นไม่เหมือนกันหรอก ดูอย่างรัฐบาลหลังๆ พรรคการเมืองต่างๆ การเลือกตั้งเข้ามา มันก็เห็นต่างกัน ไม่เห็นมีใครเบ็ดเสร็จอยู่ได้คนเดียว ทุกคนก็ได้แค่เป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งยังไม่ใช่ส่วนเกิน ส่วนครึ่งของคนที่มีสิทธิมีเสียงทั้งหมดด้วยซ้ำไป
ดังนั้น ใครจะเคลมว่าตัวเองอย่างนู้นอย่างนี้ ก็ยังเคลมไม่ได้หรอกว่าเรามีเสียงมากกว่าเขา แต่ในนี้รวมสัดส่วนแล้วมันยังมีหลายส่วนที่เป็นองค์ประกอบที่ทำให้แตกต่างกันไป บางคนเห็นว่าเขาเป็นเสียงข้างน้อย แต่คนที่ชนะก็ยังไม่ใช่เสียงข้างมาก 100% เสียงข้างน้อยที่เห็นเหมือนกันเขารวมตัวกัน เขาก็มากกว่าคนที่ได้คะแนนมากคนเดียว อันนี้มันเป็นกฎกติกา ถ้าเราบอกว่าประชาธิปไตย ก็ต้องถือว่าโอเค เราก็เคารพเท่านั้นเอง
รัฐบาลนี้มี 6 พรรคการเมืองที่ตั้งรัฐบาล มีพรรคฝ่ายค้านอีก 2-3 พรรค ถ้าบอกว่าตอนเลือกตั้งได้เสียงข้างมากที่สุด โอเค แต่ถ้าบอกว่าเขาคือเสียงส่วนใหญ่ เบ็ดเสร็จเลย ต้องเชื่อฟังเขา ตนว่าก็เอาฝ่ายค้านที่เห็นไม่เหมือนกันมารวมกันเสียงมันมากกว่า แต่สุดท้ายรัฐบาล ฝ่ายที่ไม่เหมือนกัน แต่ละพรรคการเมืองเขาก็มีประชาชนของเขา พรรครวมไทยสร้างชาติ มีปัญหาอะไร เขามี 5-6 ล้านที่เลือกเขา พรรคภูมิใจไทย เป็นพรรคอย่างนู้นอย่างนี้ เขาก็มีคนจำนวนเป็น 10 ล้านที่เลือกเขา พรรคเพื่อไทยก็มี 10 ล้าน พรรคประชาชนมี 10 กว่าล้าน ก็สูงสุดในจำนวนคนที่อยู่ด้วย แต่ว่าไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศที่เอาตามนั้น คนส่วนใหญ่มันรวมกันแล้วมันยังมีมากกว่า อันนี้พูด ไม่ได้มานั่งเถียงกัน
“รัฐธรรมนูญวันนี้เราคาดหวังเพียงว่า ถ้าสามารถเลือก ส.ส.ร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ได้ อันนี้พูดเผื่อไว้นะ แต่ผมกำลังพูดความคาดหวัง ไม่ใช่หลายคนมาบอกพูดอย่างนี้ เดี๋ยวจะไปกันใหญ่ พูดเพียงว่าถ้าขณะนี้ เราตั้งใจแล้วมันก็ยังติดเสียงของ สว. เสียงอะไรทั้งหลาย ผมก็มองด้วยความเคารพว่าเขายังเห็นต่าง เขาอยู่ในอำนาจที่เขามีส่วนในการที่จะแก้ไข แล้วก็ยังอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่แตกต่างกันไปกับเรา ต้องเคารพเขา เป็นความเห็นที่บริสุทธิ์ใจในการที่จะแก้ แต่ไม่ใช่กลายเป็นว่าความคิดชนะถูกต้อง และความคิดคนอื่นๆ มีปัญหา มีเลศนัยทั้งหมด อันนี้ผมว่าถ้าเริ่มต้นมองแบบนี้มันไม่แฟร์กัน วันนี้ถ้าเอาตามที่เราวาด คือเราไม่อาจจะไปอย่างที่เราอยากคิดได้ เพราะกลไกไม่เอื้ออำนวย”
อย่าเพิ่งแตะ ม.112 เหตุคนส่วนใหญ่ไม่เห็นพ้อง
ขณะที่ประเด็นคำถาม มีแนวโน้มที่จะเสนอแก้เป็นรายมาตราหรือไม่ นายภูมิธรรม ให้คำตอบว่า ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย เราทำทุกอย่างให้ได้ทางออกที่ดีที่สุด จะไม่ไปจมอยู่กับอะไรอย่างเดียว เช่น แก้รายมาตรา เราก็อาจจะทำ มันอาจจะได้บ้าง ไม่ได้บ้าง หรือไม่ได้เลยก็ไม่เป็นไร แก้ทั้งหมด เราก็จะทำ แก้โดยหาคนมาที่เป็นคนที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนมาเป็นคนที่แก้ เราก็จะทำ ส่วนเห็นเหมือนกันหรือต่างกันในหมู่พรรคร่วมรัฐบาล บางคนก็เห็นภาพกว้าง บางคนก็เห็นเฉพาะ เรื่องเฉพาะ ก็เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันเป็นหนึ่งก็แก้ได้
เรื่องที่ยังเห็นไม่พ้องกัน ต้องคุยกัน อย่างมาตรา 112 มันก็ต้องใช้เวลา ในเมื่อทุกวันนี้คนยังไม่ได้เห็นด้วยกันทั้งหมด มันก็แก้ไม่ได้ มันก็ต้องรอ เพราะคนส่วนใหญ่ก็ยังบอกว่าอันนี้มันไม่ได้ มันเป็นกระทบกับจิตวิญญาณหรือความรู้สึกของคนในสังคม ต้องเข้าใจตรงนี้ ต้องทำประเด็นให้ชัดว่าจริงๆ มันติดขัดตรงไหน ไม่ใช่พูดแบบภาพรวมว่ามันแย่มากจนต้องอย่างนู้นอย่างนี้ แล้วมันไปกระเทือนความเข้าใจ ความรับรู้ ความรู้สึกของคนที่เขาคิดต่าง มันก็ไม่มันไม่จบ ถ้าไม่หาจุดร่วมกันมา มันก็จะสร้างความแตกแยกในสังคมได้อีก
เมื่อถามอีกว่าวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2568 จะเห็นภาพชัดขึ้นว่าร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับพรรคเพื่อไทย ร่างของประชาชน หรือรายมาตราของพรรคประชาชน จะไปได้ขนาดไหน นายภูมิธรรม บอกว่า อยู่ที่ความเป็นจริง และตนก็ต้องเคารพ สว. ถึงเขาจะเป็นอย่างไร เขาก็เป็นตัวตนคนหนึ่ง ซึ่งมีสิทธิมีเสียงในการที่จะคิดแล้วก็เสนอแนะ เห็นต่างก็ได้
ส่วนคำถามถึงแนวโน้มที่ทางเพื่อไทยเสนอรายมาตราแก้ระบบเลือกตั้งจาก สส.เขตและบัญชีรายชื่อ เป็นไม่มี สส.บัญชีรายชื่อ คุยกันตกผลึกหรือยัง นายภูมิธรรม ระบุว่ายัง และไม่ใช่พรรคเพื่อไทยที่ว่าจะยกเลิกสส.บัญชีรายชื่อ เป็นเรื่องของคนที่แตกต่างกัน ที่เห็นต่างกันได้ ไม่ว่าจะอยู่พรรคเดียวกันหรือไม่ ทุกประเด็นถ้ายังมีความเห็นที่แตกต่างและเสนอเข้ามา มันก็ต้องอยู่ในประเด็นที่เราต้องพิจารณา ต้องคุยกัน ถ้าเราคุยกันแล้วทุกอย่างเห็นเหมือนกันหมดก็จบ มันก็ต้องไปตามนั้น
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นที่ว่ารัฐธรรมนูญก็คงเป็นหนังม้วนยาวที่ต้องว่ากันทั้งเทอม นายภูมิธรรม ระบุ คิดว่าถ้าสามารถทำได้ถึงขั้นที่สามารถเลือก ส.ส.ร. มาได้ ก็ถือว่ามีความคืบหน้ามากพอสมควรในการที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ เพราะเวลาเราคุยกันเรื่องจะทำรัฐธรรมนูญก็ดี คุยเรื่องอื่นก็ดี เราคุยเรื่องเป้าหมาย มันก็จบ เราก็ทำกัน แต่ว่าทำแล้วจริงๆ ได้แค่ไหน ต้องไปดูความเป็นจริง.